เดือนมีนาคมปีนี้เหมือนว่าอากาศจะร้อนกว่าทุกปี เพราะยังไม่ทันจะเข้าเทศกาลสงกรานต์ หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสไปแล้ว และดูเหมือนว่าคลื่นความร้อนจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีโรคที่เกิดขึ้นในทุกฤดูร้อนหรือเกิดขึ้นในสภาพอากาศร้อนจัดจนอาจส่งผลให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นั่นคือ โรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat Stroke)
โรคลมแดด เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยมีอาการสำคัญ ได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะเริ่มรู้สึกผิดปกติ ปวดศีรษะ หน้ามืด กระสับกระส่าย ซึม สับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ฮีตสโตรก กลุ่มเสี่ยงไม่ได้มีแค่อยู่กลางแดดร้อนๆ
สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นฮีตสโตรก ไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมหรือทำงานอยู่กลางแจ้ง เช่น คนงานก่อสร้าง คนที่เป็นนักวิ่งมาราธอนเท่านั้น แต่กลุ่มคนสูงอายุและเด็ก ก็เป็นกลุ่มจะมีโอกาสสูญเสียความร้อนได้มากกว่ากลุ่มวัยรุ่นปกติ รวมไปถึงคนไข้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ต้องใช้ยาโรคประจำตัว เช่น โรคพาร์กินสัน โรคความดันโลหิตสูง กลุ่มนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคลมแดดได้มากขึ้น
การปฐมพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคฮีตสโตรก
- สังเกตอาการผู้ป่วยว่ามีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไปหรือไม่ ถ้ามีภาวะความรู้สึกตัวที่ผิดปกติไป ให้คลำชีพจรดูว่าการหายใจ ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องทำ CPR และโทร. 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยรวดเร็ว
- หากผู้ป่วยที่ยังพอรู้สึกตัว หรือรู้สึกตัวดีอยู่ สามารถนำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกลำตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ เพื่อระบายความร้อนร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ราดน้ำเย็นลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลง ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ทดแทน หากอาการยังไม่ดีขึ้น ให้ส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
การป้องกันการเกิดโรคฮีตสโตรก
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการทำงานกลางแจ้งในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนจัด
- หากเลี่ยงไม่ได้ ต้องออกไปกลางแจ้ง ควรปกป้องตนเองโดยใช้อุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี รวมไปถึงสวมหมวกและกางร่มเพื่อป้องกันแสงแดด และลดความเสี่ยงการสูญเสียน้ำในร่างกายโดยการดื่มน้ำอย่างน้อยชั่วโมงละ 0.5-1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง
นอกจากนี้ การอยู่ในยานพาหนะที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้งก็มีความเสี่ยง เพราะนอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่มีผลต่อระบบประสาทเช่นกัน
ที่มา:
- https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/173076
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ฮีตสโตรกจากอากาศร้อน/
เรื่อง: ศักดิ์สิทธิ์ ไม้ลำดวน