ภาวะ Long COVID ผลข้างเคียงหลังหายป่วย แต่อาการยังไม่หมดไป

ของแบบนี้ไม่อยากลอง!
เพราะภาวะ Long COVID รบกวนการใช้ชีวิตของคุณ
แล้วเราจะป้องกันและรักษาอย่างไร?

โรคโควิด-19 อยู่กับมวลมนุษยชาติมาจะสามปีแล้ว ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อ เจ็บป่วย และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แม้บางรายจะเคยติดเชื้อและหายป่วยแล้ว แต่เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ อาการบางอย่างตั้งแต่ติดเชื้อยังไม่หายไปไหน บางคนแทบจะไม่มีอาการป่วยหลงเหลือ แต่บางรายก็มีอาการหลงเหลืออยู่ (โดยเฉพาะอาการอ่อนเพลีย) ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน

ภาวะ Long COVID คืออะไร

ภาวะ Long COVID เป็นอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ หลังได้รับเชื้อ ทั้งๆ ที่ตามปกติแล้วเชื้อโควิด-19 นั้นมักจะหายไปในไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อ และจากรายงานการวิจัยหลายฉบับมีการระบุไว้ว่า 80% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ขาดสมาธิ ผมร่วง และหอบเหนื่อยมากที่สุด

สาเหตุเกิดจากอะไร

ทางการแพทย์นั้นยังไม่สามารถยืนยันสาเหตุที่แท้จริงของภาวะ Long COVID ได้ แต่สันนิษฐานว่าภาวะ Long COVID อาจเกิดจากรอยโรคหรือซากเชื้อที่หลงเหลือจากการติดเชื้อต่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย หรือเชื้อไวรัสที่ยังตกค้างอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยโควิด-19 แม้ว่าจะไม่ได้แสดงอาการออกมา แต่โดยธรรมชาติของร่างกายแล้วจะกระตุ้นภูมิคุ้มเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ

คุณรู้หรือไม่ ภาวะ Long COVID มีสามประเภท

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้จำแนกภาวะ Long COVID ไว้สามประเภท ดังนี้

1. ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการใหม่ หรืออาการเดิมไม่หายไป (New or ongoing symptoms)

คือการที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 นั้นมีอาการยาวนานต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหลังจากติดเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งแรก มักพบในคนไข้อาการรุนแรงตั้งแต่ต้น และทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้สมาธิจดจ่อมากๆ โดยมีอาการ เช่น

  • เป็นไข้ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ไอ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ปวดท้อง ท้องเสีย รับประทานอาหารไม่ลง
  • ปวดหู หรือมีเสียงในหู
  • ใจสั่น ขาดสมาธิ คิดอะไรไม่ออก หัวตื้อ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
  • มีอาการชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ
  • ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้ไม่ปกติ
  • ผื่นตามตัว
  • รอบประจำเดือนมาผิดปกติ

2. ภาวะที่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 มีความผิดปกติในหลายอวัยวะ (multiorgan effects)

คือการที่ผู้ป่วยนั้นมีอาการผิดปกติเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย โดยมีสาเหตุจากปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาที่รุนแรงอย่าง cytokine storm ที่ร่างกายของผู้ป่วยโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมการหลั่งสารในระบบภูมิคุ้มกันกลุ่ม cytokine ซึ่งจะส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะหลายส่วนถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง มักพบมากที่บริเวณเนื้อเยื่อหัวใจ ปอด ไต สมอง และผิวหนัง และในเด็กอาจะพบการเกิดโรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) ที่มีอาการโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) คือเกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ มีไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่หรือหลังหายทันที โดยโรคนี้อาจมีผลกระทบต่อหลายอวัยวะ (multiorgan effects) ในระยะยาวได้

3. ผลกระทบระยะยาวจากการนอนโรงพยาบาลและจากการติดเชื้อโควิด-19

มักเกิดในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในห้อง ICU ที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจ อาจทำให้แขนขาไม่ค่อยมีแรง และยังคงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่แม้จะไม่มีเชื้อโควิด-19 แล้ว ในบางกรณีอาจมีผลต่อเรื่องการคิดและคำพูด นำไปสู่ภาวะที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder; PTSD) เช่น การได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือถูกปั๊มหัวใจในการช่วยชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดฉับพลันและอาจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง

เราสามารถป้องกันภาวะ Long COVID ได้หรือไม่

ตอบสั้นๆ คือ “ได้ ขอเพียงแค่คุณไม่ติดเชื้อโควิด-19” ซึ่งนั่นก็คือการป้องกันตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อนั่นเอง เช่น การรักษาระยะห่าง ล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการฉีดวัคซีนนั้นช่วยลดความรุนแรงจากภาวะ Long COVID หลังจากได้รับเชื้อ (แต่วัคซีนไม่สามารถป้องกันภาวะ Long COVID ได้)

ป่วยแล้วรักษาได้ ด้วยคลินิก Long COVID ทั่วกรุง

หากคุณมีภาวะ Long COVID ค้องการรักษาภาวะอาการเจ็บป่วยดังกล่าว และอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดคลินิก Long COVID ซึ่งเป็นการติดตามอาการแบบ One Stop Service สำหรับผู้มีอาการผิดปกติหลังหายจากโรคโควิด 19 บริการตรวจประเมิน วินิจฉัยให้การรักษา พร้อมส่งต่อหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 9 แห่ง ดังนี้

1. ARI Clinic โรงพบาบาลตากสิน ทุกวันจันทร์ เวลา 13.00-16.00 น.

2. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลลาดกระบัง ทุกวันอังคาร เวลา 8.00-12.00 น.

3. คลินิกวัณโรค โรงพยาบาลสิรินธร ทุกวันอังคาร เวลา 13.00-16.00 น.

4. อาคารอนุสรณ์ 20 ปี ชั้น 2 โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ทุกวันพุธ เวลา 9.00-12.00 น.

5. ARI Clinic โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.

6. คลินิกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ทุกวันพุธ เวลา 13.00-16.00 น.

7. คลินิกประกันสุขภาพ โรงพยาบาลกลาง ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.

8. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.

9. คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น.

โดยคุณสามารถนัดหมายเข้าใช้บริการได้ที่ศูนย์ BFC ของโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง หรือนัดหมายผ่านระบบ Telemedicine ในแอพพลิเคชัน ‘หมอ กทม.’


ที่มา:


เรื่อง: ศักดิ์สิทธิ์ ไม้ลำดวน

SHARE