ซีเซียม-137 ที่ปราจีนบุรี อันตรายหรือไม่ แล้วเราจะระวังกัมมันตรังสีได้อย่างไร

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่่ผ่านมา ทางจังหวัดปราจีนบุรี และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ออกแถลงข่าวว่าพบวัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงไฟฟ้าใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ว่าได้เข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเป็นฝุ่นผงแดงในโรงงานรีไซเคิลโลหะและบดอัดเตรียมเข้าสู่เตาหลอมแล้ว

แม้ในช่วงแรกหลังแถลงข่าวจบ จะสร้างความงุนงงและประหวั่นพรั่นพรึงว่ารังสีจะฟุ้งกระจายไปทั่วประเทศ หรือรังสีไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติไปแล้ว แต่ทางสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติชี้แจงว่า อัตราการแผ่รังสีที่ออกมาจากซีเซียม-137 นั้นต่ำมาก คือ ที่ระยะ 180 เซนติเมตรจากวัสดุกัมมันตรังสีด้านช่องเปิด มีอัตราการแผ่รังสีประมาณ 0.01 มิลลิซีเวิร์ต/ชั่วโมง รวมไปถึงการตรวจวัดการแผ่รังสีที่โรงหลอมนั้น มีอัตราการแผ่รังสีอยู่ที่ 1.449 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง

ด้วยค่าที่วัดออกมาในหน่วยที่ไม่คุ้นเคยนั้นอันตรายหรือไม่? อาจวรงค์ จันทมาศ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้อธิบายในสเตตัสเฟซบุ๊กเกี่ยวกับซีเซียม-137 และการแพร่กระจายรังสีไว้ว่า

“รอบตัวเราเต็มไปด้วยรังสีจากแหล่งต่างๆอยู่แล้วตามธรรมชาติ ทั้งจากรังสีคอสมิกที่มาจากนอกโลกและจากสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในดินในหินก็ปลดปล่อยรังสีออกมาได้

ธาตุซีเซียม-137 เป็นกัมมันตรังสี สามารถสลายตัวให้ธาตุแบเรียมพลังงานสูง แล้วธาตุแบเรียมก็จะคายรังสีแกมมาออกมา แล้วลดระดับพลังงานลงสู่สถานะพื้น

1.449 ไมโครซีเวิร์ต/ชม. = 12.7 มิลลิซีเวิร์ต/ปี ซึ่งปกติร่างกายเรารับรังสีจากแหล่งต่างๆอยู่แล้ว 2.4 มิลลิซีเวิร์ต/ปี  หากคิดแบบมองโลกในแง่ดี เครื่องวัดนี้จึงวัดค่ารังสีเกินจากค่าปกติทั่วไป 12.7-2.4= 10.3 มิลลิซีเวิร์ต/ปี 

หากอ้างอิงตัวเลขจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency) ค่ารังสีส่วนเกินจากธรรมชาติที่คนทั่วไปควรได้รับไม่ควรจะเกิน 1 มิลลิซีเวิร์ต/ปี ดังนั้นค่าดังกล่าวจึงถือว่าสูงสำหรับคนทั่วไปอย่างน้อยๆ 10 เท่า แต่นั่นหมายความว่าท่านต้องไปนั่งนอนอยู่ตรงนั้นนาน 1 ปีเลยทีเดียว”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Today ว่า “ถ้าความแรงอยู่ที่ 40 มิลลิคูรี จะมีซีเซียมประมาณ 0.005 กรัม เราอย่าเอาปริมาณเหล่านี้ไปเทียบกับกรณีที่เชอร์โนบิล ซึ่งมีซีเซียมปล่อยออกมา 27 กิโลกรัม ซึ่งความรุนแรงต่างกัน 50-60 ล้านเท่า เท่าที่ดูปริมาณที่หลุดไปในธรรมชาตินั้นเป็นปริมาณรังสีพื้นหลัง ซึ่งแร่ที่ตั้งต้น 40 มิลลิคูรี ก็ไม่ได้เป็นปริมาณที่น่ากังวล เพราะต่อให้ฟุ้งไปในอากาศก็ถูกทำให้เจือจางโดยธรรมชาติอยู่แล้ว”

โดยสรุปคือ การแผ่รังสีของซีเซียม-137 ในวงกว้างนั้นต่ำมาก แทบไม่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าวัตถุต้องสงสัยนั้นเป็นวัตถุที่บรรจุกัมมันตรังสี? โดยปกตินั้น บริเวณที่มีรังสี หรือวัตถุที่มีกัมมันตรังสี จะมีป้ายแจ้งอยู่เสมอ (ใครที่ไปเอกซเรย์ที่โรงพยาบาลบ่อย จะคุ้นเคยกันดี) พร้อมสัญลักษณ์คล้ายใบพัดสามแฉก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลที่หมายถึงการแผ่รังสีนั่นเอง ซึ่งหาพบวัตถุที่มีสัญลักษณ์นี้อยู่ในสถานที่อื่นใดที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับงานรังวสี ควรอยู่ให้ห่างจากวัตถุนั้นให้มากที่สุด

และหากผู้ใดที่พบเห็นวัตถุต้องสงสัย โปรดหลีกเลี่ยงการสัมผัสและเข้าไปอยู่ใกล้ชิด และรีบแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่สายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โทร. 1296


ที่มา: bit.ly/3yWoEsl

bit.ly/3lu6bAi

bit.ly/3lu6jjg


เรื่อง: ศักดิ์สิทธิ์ ไม้ลำดวน

SHARE