หลังจากที่ทางสหราชอาณาจักรและประเทศในสหภาพยุโรปได้เริ่มทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบสองสายพันธุ์ (bivalant) ไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็เริ่มมีผลการวิจัยออกมาถึงประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าว
เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ Center for Medical Genomics คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า ข่าวดี…วัคซีนเข็มกระตุ้นสองสายพันธุ์ (ไบวาเลนต์-บูสเตอร์) สามารถช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรวมทั้งลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ย่อยอุบัติใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นสองสายพันธุ์
การศึกษาชิ้นนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มแรกที่ทำการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนเข็มกระตุ้นสองสายพันธุ์จากอาสาสมัครสูงวัย (65 ปี ขึ้นไป) ในประเทศอิสราเอลจำนวนกว่า “6 แสนคน” ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นที่สองประเภทสองสายพันธุ์เพียง “เข็มเดียว” พบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 81% และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ถึง 86% (โดยติดตามหลังการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไป 70 วัน)
แล้วในตัววัคซีนยับยังสายพันธุ์อะไรได้บ้าง? ดร. อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการวิจัยกลุ่มนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาในประเด็นนี้ไว้ว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นสูตรใหม่สามารถให้ภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสสายพันธุ์กลุ่มโอมิครอนได้มากกว่ากลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรดั้งเดิม โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 โดยภูมิถูกกระตุ้นจากก่อนฉีดขึ้นมา 13 เท่า ในขณะที่วัคซีนสูตรเก่ากระตุ้นขึ้นมาได้ประมาณ 3 เท่า รวมไปถึงความสามารถในการกระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรใหม่ดูเหมือนจะได้ภูมิที่ยับยั้งไวรัสกลุ่มที่เป็นลูกหลานของ BA.4/BA.5 เช่น กลุ่ม BA.4.6, BQ.1.1 ได้พอสมควร โดยตัวเลขภูมิที่กระตุ้นขึ้นมาได้อยู่ระดับ 8.7-11.1 เท่า เทียบกับวัคซีนสูตรเดิมที่ 1.8-2.3 เท่า
โดยสรุปก็คือ วัคซีนโควิดแบบสองสายพันธุ์ มีความสามารถในการป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ (โอมิครอน) ได้ดีกว่าวัคซีนสูตรเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ
สำหรับการฉีดวัคซีน bivalant ในไทยนั้น ได้เริ่มทยอยฉีดแล้วในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเบื้องต้นเป็นวัคซีนจากค่ายไฟเซอร์ (ส่วนโมเดอร์นาเพิ่งมาถึงไทย กำลังรอแจกจ่ายไปตามสถานพยาบาลต่างๆ ใครรอค่ายนี้ อดใจกันอีกนิด) สามารถจองคิวหรือวอล์กอินได้ตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
1. สถาบันโรคผิวหนัง ชั้น 12A อาคารสถาบันโรคผิวหนัง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันจันทร์-เสาร์ เวลา 9.00-15.00 น. หรือจองคิวออนไลน์ได้ ที่นี่ และตรวจสอบผลการลงทะเบียนได้ผ่านแอปพลิเคชัน “Vaccine บางซื่อ”
2. โรงพยาบาลราชวิถี ติดต่อลงทะเบียนที่ชั้น 1 อาคารทศมินทราธิราช วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-13.30 น. หรือจองคิวออนไลน์ได้ ที่นี่
3. สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ณ ฝ่ายบริการและวิจัยคลินิก ตึกอำนวยการสถานเสาวภา ชั้นล่าง สถานเสาวภา ถนนพระราม 4 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-11.00 น.
หรือที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 69 แห่ง (เปิดให้ฉีดทุกวันศุกร์ เวลา 13.00-15.00 น.) โดยคุณสามารถจองคิวผ่านทางแอป QueQ ได้เลย
ที่มา: https://www.thaipost.net/covid-19-news/301108/
https://health.kapook.com/view266448.html
https://www.komchadluek.net/covid-19/updated-vaccine/536544
https://www.thairath.co.th/news/local/2652613
เรื่อง: ศักดิ์สิทธิ์ ไม้ลำดวน.