เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคโควิด-19 ไม่ถือเป็น ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก’ อีกต่อไป
ถ้อยแถลงดังกล่าวจากองค์การอนามัยโลกแสดงถึงขั้นตอนสำคัญในการยุติการแพร่ระบาด และเกิดขึ้นสามปี หลังจากโควิด-19 ยกระดับเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก โดยเจ้าหน้าที่จากองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงจากระดับสูงสุดกว่า 100,000 คนต่อสัปดาห์ในเดือนมกราคม 2564 เหลือเพียง 3,500 คนในวันที่ 24 เมษายน 2566
แม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลกจะกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ล้านคน ตลอดสามปีของการระบาดของโรค แต่ ดร. เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ตัวเลขที่แท้จริงนั้น ‘น่าจะ’ มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20 ล้านคน หรือเกือบ 3 เท่าของตัวเลขที่เจ้าหน้าที่ประเมินไว้ และเขาเตือนว่าโควิด-19 ยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ
“เมื่อวานนี้ คณะกรรมการฉุกเฉินได้ประชุมกันเป็นครั้งที่ 15 และแนะนำให้ผมประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เป็นข้อกังวลระหว่างประเทศ ซึ่งผมเองก็ยอมรับคำแนะนำนั้น ดังนั้น เราจึงมีความหวังที่ดีที่จะประกาศให้ COVID-19 ไม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก” ดร. เทดรอสกล่าว
แต่ยังมีคำเตือนจากดร. เทดรอสต่อไปว่า การตัดสินใจยกเลิกการแจ้งเตือนดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าการระบาดได้สิ้นสุดลงแล้ว และอาจกลับสู่ภาวะฉุกเฉินอีกครั้งหากสถานการณ์เปลี่ยนไป “สิ่งที่แย่ที่สุดที่ทุกประเทศทำได้ในตอนนี้คือการใช้ข่าวนี้เป็นเหตุผลในการลดการป้องกัน รื้อหรือยกเลิกระบบป้องกันโรคติดต่อ หรือส่งข้อความถึงประชาชนว่าโควิด-19 ไม่มีอะไรต้องกังวล”
แม้โควิด-19 ยังคงแพร่กระจาย ไวรัสกำลังพัฒนาและยังคงเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพทั่วโลก แต่อยู่ในระดับที่น่ากังวลน้อยกว่าเดิม เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกกล่าว
“ยังคงมีภัยคุกคามด้านสาธารณสุขอยู่ และเราทุกคนเห็นตรงกันว่ายังมีวิวัฒนาการของไวรัสนี้ ยังมีการแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง สร้างความเปราะบางให้กับชุมชนของเรา ทั้งความเปราะบางทางสังคม ความเปราะบางด้านอายุ ความเปราะบางในการป้องกัน และอื่นๆ อีกมากมาย” ดร. ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารของ WHO’s Health Emergencies Programme กล่าว
นอกจากนี้ ไรอันยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในกรณีส่วนใหญ่ โรคระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อโรคระบาดครั้งต่อไปเริ่มขึ้น ผมทราบดีว่านั่นเป็นความคิดที่แย่มาก แต่นั่นคือประวัติศาสตร์ของการแพร่ระบาด”
ดร. เทดรอสกล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อโควิด-19 หายไป มันยังคงทิ้งรอยแผลลึกไว้บนโลกของเรา รอยแผลเป็นเหล่านั้นจะต้องทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจอย่างถาวรถึงศักยภาพของไวรัสตัวใหม่ที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับผลร้ายแรง นอกจากนี้หนึ่งในโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโควิด-19 คือมันไม่จำเป็นต้องร้ายแรงถึงขนาดนี้ เรามีเครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดได้ดียิ่งขึ้น ตรวจจับได้เร็วขึ้น ตอบสนองเร็วขึ้น และอธิบายถึงผลกระทบได้ แต่ทั่วโลกขาดการประสานงานที่ดี ขาดความเสมอภาค และขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หมายความว่าเครื่องมือเหล่านั้นไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เราต้องสัญญากับตัวเองและลูกๆ หลานๆ ว่าเราจะไม่ทำผิดพลาดแบบนั้นอีก”
องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นข้อกังวลระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563
ในปี พ.ศ. 2564 วัคซีนเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการแพร่ระบาด ทำให้ผู้คนหลายล้านคนได้รับการปกป้องจากการเจ็บป่วยร้ายแรงและการเสียชีวิต แต่ในหลายประเทศ วัคซีนยังไปไม่ถึงผู้ที่ต้องการส่วนใหญ่ และก่อนการยกเลิกภาวะฉุกเฉินดังกล่าว สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ยกประเด็นเกี่ยวกับ ‘การอยู่ร่วมกับโควิด’ และเริ่มผ่อนปรนมาตรการด้านสุขอนามัย
ที่มา: https://www.bbc.com/news/health-65499929
https://edition.cnn.com/2023/05/05/health/who-ends-covid-health-emergency/index.html