แจ้งเตือนบนมือถือทำสมาธิกระเจิง แล้วเราจะกลับมาจดจ่อกับงานอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร

เดี๋ยวไลน์กลุ่มครอบครัวดัง เดี๋ยวเมลงานเข้า เพื่อนแท็กรูปร้านบุฟเฟต์ในไอจี แถมเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ลดราคาก็ขึ้นแจ้งเตือนอีก ยังไม่พอ อีกสักพักไรเดอร์ก็ส่งข้อความมาว่าหาบ้านไม่เจอ…

นี่เป็นสิ่งที่หลายคนกำลังเผชิญอยู่ใช่ไหม แถมบางครั้งเสียงแจ้งเตือนและไฟหน้าจอสมาร์ตโฟนที่ติดขึ้นมาก็ทำให้คุณเบี่ยงเบนความสนใจและทำลายสมาธิที่เรากำลังทำงานอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าคุณจะเปิดเสียงหรือเปิดสั่นอยู่ก็ตาม

แล้วเราจะไม่ถูกดึงความสนใจ พร้อมจดจ่อกับสมาธิในการทำงานหรือกิจกรรมอื่นโดยที่ไม่ว่อกแว่กไปที่สมาร์ตโฟนบ่อยเกินไปได้อย่างไร?

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮมเทรนต์ระบุว่า คนทั่วไปจะเช็กโทรศัพท์ประมาณ 85 ครั้งต่อวัน อีกนัยหนึ่งคือทุกๆ 15 นาที (หรือถี่กว่านั้น) ความสนใจของคุณมักจะหลุดลอยไปจากสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่จากการเอื้อมหยิบดูข้อความและการแจ้งเตือนในสมาร์ตโฟน

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานทางวิชาการมากมาย ที่การแจ้งเตือนบนโทรศัพท์มือถือส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง มีสมาธิที่แย่ลง และมีความฟุ้งซ่านมากขึ้นในระหว่างวันไม่ว่าจะกำลังเรียนหรือทำงานอยู่ และยังมีผลการวิจัยที่เกี่ยวกับคลื่นสมองยังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนอย่างหนักจะไวต่อเสียงและการแจ้งเตือนบนหน้าจอโทรศัพท์มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าเป็นคนไม่ติดโทรศัพท์ และกลุ่มตัวอย่างที่ติดโทรศัพท์จะมีสมาธิกลับไปยังงานที่ตนทำอยู่ต่ำกว่าผู้ที่ไม่ติดโทรศัพท์ แม้ว่าเสียงการแจ้งเตือนจะรบกวนการทำงานของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มพอๆ กันก็ตาม ไม่เพียงเท่านั้น การถูกขัดจังหวะจากโทรศัพท์ของคุณบ่อยครั้งอาจทำให้คุณรู้สึกเครียดการที่คุณต้องตอบสนองการแจ้งเตือนนั้นในทันที และยังมีความเกี่ยวข้องกับอาการ FOMO (หรือ Fear Of Missing Out–ความกลัวว่าจะพลาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป) 

แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี?

Sharon Horwood นักวิชาการด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Deakin ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ถ้าทำเพียงแต่ปิดเสียงเรียกเข้า ก็แก้ปัญหานั้นไม่ได้ในทันทีทันใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนติดโทรศัพท์ ชอบเปิดหน้าจอเช็กข้อความบนจอสมาร์ตโฟนบ่อยๆ ซึ่งสิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลงคือ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานสมาร์ตโฟน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน แต่อาจต้องใช้ความพยายามหลายครั้งเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

แชรอนแนะนำว่า นอกจากปิดเสียงเรียกเข้าแล้ว ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรลองทำเพื่อปรับเปลี่ยนความถี่ในการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กบ่อยๆ ของคุณ

1. ชาร์จโทรศัพท์ข้ามคืนในห้องอื่นที่ไม่ใช่ห้องนอนของคุณ การแจ้งเตือนสามารถป้องกันไม่ให้คุณหลับและปลุกคุณจากการนอนที่จำเป็นซ้ำๆ ตลอดทั้งคืน

2. ระงับความอยากเข้าไปเช็กโทรศัพท์บ่อยๆ ด้วยการเตือนตัวเองว่า การหยิบโทรศัพท์แต่ละครั้งนั้นเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณหรือไม่ ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณหันไปหยิบโทรศัพท์ ให้หยุดและถามตัวเองว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำต่อไปนี้ มีจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากการถูกเบี่ยงเบนความสนใจหรือไม่ มีเรื่องสำคัญที่จะต้องตอบในทันทีหรือไม่ เป็นต้น

3. เพิ่มสมาธิจดจ่ออยู่กับงานด้วยวิธี Pomodoro ซึ่งเป็นเทคนิคบริหารเวลาที่ช่วยเพิ่มสมาธิในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการคือ ให้คุณจดจ่อกับงานที่คุณทำ 25 นาที แล้วพักเพื่อเช็กโทรศัพท์เป็นเวลา 3-5 นาที จากนั้นทำซ้ำอีก 3 ครั้ง แล้วค่อยเพิ่มเวลาพักรอบใหญ่เป็น 5-15 นาที ก่อนจะกลับไปทำซ้ำใหม่อีกครั้ง ซึ่งวิธีนี้อาจค่อยเป็นค่อยไป และอาจปรับช่วงพักได้หากคุณมีสิ่งต่างๆ คั่งค้างในโทรศัพท์มาก


ที่มา: https://edition.cnn.com/2022/12/30/health/phone-notifications-interruptions-wellness-partner/index.html


เรื่อง: ศักดิ์สิทธิ์ ไม้ลำดวน

SHARE